งานราชการล่าสุด

นายจ้างพร้อม-ลูกจ้างทำใจ หักเงินใช้หนี้ กยศ.-กรอ

11 มิ.ย. 2560 เวลา 21:37 น. 8,496 ครั้ง

นายจ้างพร้อม-ลูกจ้างทำใจ หักเงินใช้หนี้ กยศ.-กรอ



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม

นายจ้างพร้อม-ลูกจ้างทำใจ หักเงินใช้หนี้ กยศ.-กรอ.!

นายจ้างสามารถหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานและค่าล่วงเวลาในวันหยุด จากการจ้างแรงงานลูกจ้างที่เป็นหนี้กยศ.หรือ กรอ.ได้

“สังคมแรงงาน” ต้องตื่นตัวกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือเรียกสั้นๆ กันว่า “กฎหมาย กยศ.” กำลังจะบังคับให้นายจ้างผู้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของตน มีหน้าที่หักเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานของลูกจ้าง ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือที่รู้จักเรียกขานกันว่า “กองทุน กยศ.” ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต

หรือที่รู้จักและเรียกกันในนามว่า “กองทุน กรอ.” ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ.2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ลูกจ้างได้รับไปใช้จ่ายเป็นเงินค่าเล่าเรียน ค่าบํารุง ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สถานศึกษาเรียกเก็บ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าครองชีพ เป็นต้น ตามสัญญากู้ยืมเงินเมื่อครั้งที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาคืนกองทุน

ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค.2560 ที่ผ่านมา โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.2560 อันใกล้จะถึงนี้เป็นต้นไป ซึ่งยังมีระยะเวลาเพียงพอให้นายจ้างได้มีโอกาสเตรียมความพร้อม วางระบบ สร้างกลไก และบริหารจัดการต่อความเปลี่ยนแปลง

 

ในขณะเดียวกันย่อมเป็นช่วงระยะเวลาให้ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานได้มีโอกาสวางแผนการจัดการบัญชีส่วนบุคคล และทำใจเกี่ยวกับการชำระ “หนี้ กยศ.” และ “หนี้ กรอ.” คืนกองทุน รวมทั้งศึกษารับทราบถึง หน้าที่ สิทธิ และความรับผิดตามที่กฎหมายกำหนด

โดย “กฎหมาย กยศ.” ฉบันใหม่นี้ ได้บูรณาการการบริหารจัดการและการดำเนินการของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษา พ.ศ.2549 ที่ออกตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 ให้เป็นเอกภาพอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และเพิ่มมาตรการในการบริหารจัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้น เรียกว่า “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในกํากับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กองทุนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้วยการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก มีความชัดเจนของการผลิตกําลังคนและมีความจําเป็นต่อการพัฒนาประเทศ หรือในสาขาวิชาขาดแคลน หรือสาขาวิชาที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ ตลอดจนเพื่อสร้างความเป็นเลิศให้แก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดี โดยมีคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และควบคุมดูแลกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่ติดตามและเร่งรัดให้มีการชําระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาคืนกองทุน

 

การชำระเงินคืนกองทุน นั้นกฎหมายกำหนดให้นักเรียนหรือนักศึกษาผู้ได้รับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจากกองทุน มีหน้าที่ต้องชําระเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน เมื่อผู้กู้ยืมเงินสําเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว ตามจํานวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ ด้วยวิธีการให้บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐและเอกชนผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ

โดยให้นําส่ง กรมสรรพากร ภายในกําหนดระยะเวลานําส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งการหักเงินได้ดังกล่าว ต้องหักให้กองทุนเป็นลําดับแรกถัดจากการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม

ฉะนั้นนายจ้างไม่ว่าจะอยู่ในสถานะของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ทั้งภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างงาน มีหน้าที่หักเงินได้พึงประเมินของผู้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบ

ทั้งนี้หากนายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินก็ดี หรือได้ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินเรียบร้อยแล้วแต่ไม่ได้นําส่ง กรมสรรพกร ก็ดี หรือได้ดำเนินการนําส่งแล้วแต่นำส่งไม่ครบตามจํานวนที่กองทุนแจ้งให้ทราบก็ดี รวมถึงได้ดำเนินการหักเงินได้พึงประเมินและนําส่งกรมสรรพกรเกินกําหนดระยะเวลา

นายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินจำต้องรับผิดชดใช้เงินที่ต้องนําส่งในส่วนของลูกจ้างผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ อีกทั้งต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจํานวนเงินที่นายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินยังไม่ได้นําส่ง หรือตามจํานวนที่ยังขาดไป แล้วแต่กรณี

 

นอกจากนี้ นายจ้างผู้ครอบครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) มีหน้าที่จัดส่งข้อมูลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามที่กองทุนร้องขอภายในเวลาอันสมควร

สำหรับลูกจ้างผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของ กยศ. หรือลูกหนี้ของ กรอ. นั้น เมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้ว มีหน้าที่ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ได้รับไปตามสัญญากู้ยืมเงินคืนให้กองทุน ตามจำนวน ระยะเวลา และวิธีการที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ และต้องปฏิบัติหน้าที่ของลูกหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินโดยเคร่งครัด กล่าวคือ

ประการที่แรก กระทำการแจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมเงินของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือผู้กู้ยืมเงินของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) แล้วแต่กรณี ต่อนายจ้างที่ตนทำงานด้วยภายใน 30 วันนับแต่วันที่เริ่มปฏิบัติงาน

ประการที่ 2 ยินยอมให้นายจ้างซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน มีสิทธิหักเงินได้พึงประเมินของตนซึ่งเป็นลูกจ้างของนายจ้างผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว เพื่อชําระหนี้เงินกู้ยืมคืนกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาแจ้งให้ทราบ ดังความยินยอมที่ลูกจ้างได้เคยให้ไว้ในขณะทำสัญญากู้ยืมเงินนั้น

ประการที่ 3 ยินยอมให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของตนที่อยู่ในครอบครองของนายจ้างหรือบุคคลอื่น

ประการสุดท้าย ยินยอมให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามีสิทธิเปิดเผยข้อมูลของตนเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน และการชำระเงินคืนกองทุนได้

 

ในการหักเงินได้พึงประเมินของลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือลูกหนี้ของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนกองทุนจากเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานดังกล่าวมาข้างต้นนั้น แม้จะมีประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ลงวันที่ 31 พ.ค.2549 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งเป็นเงินได้ของลูกจ้างเนื่องจากการจ้างแรงงานไว้ก็ตาม แต่ก็มีข้อยกเว้นให้นายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าตอบแทนการทำงานดังกล่าวของลูกจ้างได้ หากเป็นการหักเพื่อชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ตาม ข้อ 31(1) และมาตรา 76(1) ของกฎหมายเดียวกัน

ฉะนั้นนายจ้างจึงสามารถดำเนินการหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ซึ่งเป็นเงินค่าตอบแทนการทำงานเนื่องจากการจ้างแรงงานของลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือลูกหนี้ของกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนกองทุนตามจํานวนที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 แจ้งให้ทราบได้โดยชอบ

ท้ายสุดนี้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนสำหรับนักเรียนและนักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนและทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติ เงินของกองทุนเป็นเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล โดยการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปี ความเข้มแข็งและมั่นคงของกองทุนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการดำรงอยู่ของกองทุน

ผู้ได้รับเงินกู้ยืมจากกองทุนถือว่าเป็นผู้ซึ่งได้รับและมีโอกาสที่ดีทางการศึกษา แต่โอกาสที่ดีดังว่านี้จะไม่อาจตกทอดสู่นักเรียนหรือนักศึกษารุ่นต่อๆ ไปได้เลย หากปราศจาก การชำระเงินคืนกองทุน

การปฏิบัติหน้าที่และประสานความร่วมมือของนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ซึ่งเป็นลูกหนี้ของกองทุนเพื่อชําระเงินกู้ยืมคืนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 จึงเป็นระบบและกลไกอันนำไปสู่ความเข้มแข็งและมั่นคงของกองทุน สำหรับสร้างโอกาสที่ดีทางการศึกษาให้แก่น้องๆ เยาวชนผู้ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของชาติในอนาคต
.....................................
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ 
โดย “ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. โสภณ เจริญ”
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม    

ข่าวจาก @ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน 2560


แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.


แสดงความคิดเห็น :

- กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพและไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้ผู้ใดโพดขายสินค้าเด็ดขาด
- ข้อความโพสโดยสาธารณชน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!
^