งานราชการล่าสุด

​วอนชาวเน็ตเลิกแชร์ !! หนุ่มกะละมังแลกมือถือ ยันไม่เกี่ยวป่วนใต้ แจงขายต่อร้าน-สกัดทอง

04 ต.ค. 2559 เวลา 11:09 น. 5,551 ครั้ง

​วอนชาวเน็ตเลิกแชร์ !! หนุ่มกะละมังแลกมือถือ ยันไม่เกี่ยวป่วนใต้  แจงขายต่อร้าน-สกัดทอง



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม
วอนชาวเน็ตเลิกแชร์ !! หนุ่มกะละมังแลกมือถือ ยันไม่เกี่ยวป่วนใต้  แจงขายต่อร้าน-สกัดทอง
พ่อค้ารับซื้อโทรศัพท์เก่าตามหมู่บ้าน เดือดร้อนหนัก หลังคนแชร์ว่อนโซเชียลฯ อ้างเป็นกลุ่มป่วนใต้ ทั้งที่รับซื้อไปเพื่อขายต่อสกัดเอาทองคำ เผยกระทบทำมาหากินขาดรายได้หนัก โร่พึ่งศูนย์ดำรงธรรมมหาสารคามช่วยเหลือ
       
       วันนี้ (3 ต.ค. 59) ที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม กลุ่มผู้ประกอบการรับซื้อโทรศัพท์เก่ากว่า 100 คน เดินทางด้วยรถกระบะกว่า 50 คัน ท้ายบรรทุกถัง กะละมังเต็มคันรถ รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม เรื่องขอความเป็นธรรมให้ตรวจสอบและชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องกรณีมีกระแสข่าวในโซเซียลมีเดียว่ามีรถกระบะบรรทุกกะละมัง ถัง มาขอแลกโทรศัพท์เก่าที่ไม่ใช้แล้วจะส่งไปยัง 3 จังหวัดชายแดนใต้นำไปประกอบระเบิด ทำให้เดือดร้อยอย่างหนักไม่สามารถประกอบอาชีพได้เหมือนเดิม โดยได้ยื่นหนังสือต่อนางจันทร์เพ็ญ ศักดิวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม

       
       นางวัณณกาญจน์ แพงมา ชาวบ้านหมู่ 11 บ้านหนองซอน ต.หนองซอน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ตัวแทนชาวบ้านที่มายื่นหนังสือ กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวจากโซเชียลมีเดียเรื่องชาวบ้านนำรถเร่เอาของใช้ประเภทพลาสติก ถัง กะละมัง อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำยาล้างจาน ไปแลกโทรศัพท์เก่า โทรศัพท์ แท็บเล็ต ตามหมู่บ้าน ไปใช้ในทางผิดกฎหมาย นำไปประกอบระเบิดป่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งข่าวที่ออกมาเป็นเท็จ ไม่เป็นความจริง
       
       ทั้งนี้ พวกตนที่มีอาชีพค้าของเก่าในตำบลเชียงยืน ต.หนองซอน ต.ดอนเงิน และ ต.โพนทอง อำเภอเชียงยืน รวมถึง ต.เขื่อน อ.โกสุมพิสัย และ ต.นาสีนวล อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม กว่า 1,000 คน ได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถนำสินค้าพลาสติกต่างๆ ไปแลกเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ แท็บแล็ตได้เช่นเคย อีกทั้งเมื่อพบด่านตรวจเจ้าหน้าที่กลับถูกเรียกตรวจและตรวจสอบรถอย่างละเอียด บางรายเจ้าหน้าที่นำตัวไปทำประวัติ ทำให้เสียเวลา
       
       อีกทั้งเมื่อเข้าไปแลกเปลี่ยนในหมู่บ้าน กลับถูกชาวบ้านหรือผู้นำหมู่บ้านไล่ออกมาจากหมู่บ้าน เดือดร้อนมากเพราะไม่มีรายได้ แต่ค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม จึงมาร้องเรียนขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเรื่องดังกล่าวมีข้อเท็จจริงอย่างไร โดยพวกตนตระเวนออกรับแลกโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตเก่า พัง ไม่ใช้แล้ว โดยจะนำถัง กะละมัง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตลอดจนผังซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มไปแลกมา จากนั้นจะนำมารวบรวมไปขายต่อให้ร้านทองในตัวอำเภอเชียงยืน ในราคาเครื่องละ 20-40 บาท เพื่อนำไปสกัดทอง แต่ละวันจะแลกถังกะละมังกับโทรศัพท์เก่าได้วันละประมาณ 300 เครื่อง เฉลี่ยมีรายได้วันละ 1,000 บาท แต่พอมีกระแสข่าวในโซเชียลฯ ถูกมองว่าพวกตนเป็นผู้ก่อการร้าย เหมือนเป็นพวกค้ายาเสพติดที่ต้องถูกตำรวจ ทหารตามจับ ชาวบ้านเมื่อทราบว่ามาแลกโทรศัพท์เก่าก็ถูกไล่ออกมาจากหมู่บ้าน
       
       ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าโทรศัพท์แต่ละเครื่องจะมี IC และมีทองคำ 99.99% เคลือบอยู่ โดยจะรวบรวมโทรศัพท์ไปขายร้านทองในตัวอำเภอเพื่อสกัดเอาทองคำ โดยโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าจะมีทองคำมากกว่า ส่วนรุ่นใหม่มีน้อย เท่าที่ทราบคือโทรศัพท์ 500 เครื่องจะได้ทองคำ 1 บาท ขณะนี้พวกตนกำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อจะเข้าแจ้งความกรณีมีการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลฯ ทำให้พวกตนเสียหาย ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งการแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอาจส่งกระทบกับบุคคลอื่นอย่างมหาศาล หากไม่เจออกับตัวเองก็คงไม่รู้ว่าเดือดร้อนเพียงใด
       
       ด้านนางจันทร์เพ็ญ ศักดิวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านแล้ว โดยจะได้ให้ทางอำเภอเชียงยืนตรวจสอบกับทางร้านทองที่รับซื้อโทรศัพท์ว่าจะนำโทรศัพท์ไปทำอะไร หากนำสกัดทองจะใช้วิธีไหน เพื่อความกระจ่าง โดยขอเวลาตรวจสอบ 15 วัน จากนั้นจะแจ้งให้ทราบ อย่างไรก็ตาม การแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นอยากให้ประชาชนอ่านให้มากฟังให้มาก หรือตรวจสอบให้ดีเสียก่อนว่าข้อมูลที่ได้รับมาเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ เพื่อไม่ให้คนอื่นเดือดร้อน 

ขอบคุณเนื้อหาจาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 3 ตุลาคม 2559

แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.


แสดงความคิดเห็น :

- กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพและไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้ผู้ใดโพดขายสินค้าเด็ดขาด
- ข้อความโพสโดยสาธารณชน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!
^