งานราชการล่าสุด

​“ธนาคารควาย” ปลดหนี้ผลงานเด็ก ม.มหาสารคาม

17 ก.พ. 2559 เวลา 23:46 น. 3,313 ครั้ง

​“ธนาคารควาย” ปลดหนี้ผลงานเด็ก ม.มหาสารคาม



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม
 “เราบังเอิญไปเห็นป้ายควายพระราชทานหล่นอยู่ เกิดแนวคิดว่าจะทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์อย่างไรจึงมาปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อต่อยอด”เกรียติจรัส แก้วพวง นศ.คณะบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามบอกถึงแรงบันดาลใจ ในการเริ่มต้นโครงการเพื่อนแท้ควายไทย เพื่อนคู่ใจชาวนา ทีมชนะเลิศ ในโครงการกรุงไทย ต้นกล้าสีขาวประจำปี 2558 ในชื่อทีมคนรักษ์ควาย



      เกรียติจรัส และเพื่อนทั้ง “พิม” สัจจาพร พิลึก “นิ” ทรงสุดา นามจันทร์ และปาริชาติ เพียรประดับ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลควายในชุมชนเมนใหญ่ ต.แกงเลิงจาน อ.เมือง จ.มหาสารคาม พบว่ามีควายพระราชทานในพื้นที่30 ตัว แต่จำนวนครอบครัวที่ต้องการมีถึง 100 ครอบครัว นั่นจึงเป็นโจทย์ของการทำโครงการว่าจะทำอย่างไรให้ควายมีครบทุกครอบครัวจึงเป็นที่มาของธนาคารควาย ให้เกษตรกรมารวมกลุ่มกัน เมื่อควายพระราชทานออกลูกมาส่งต่อให้กับชาวบ้านคนอื่นที่ยังไม่มีควาย โดยใช้จำนวนเลขคี่
      ชาวบ้านรวมกลุ่มได้โดยใช้ควายมาเป็นจุดเชื่อม ทีมคนรักษ์ควายได้นำองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำนาด้วยการใช้มูลควายมาทำเป็นปุ๋ยหมัก รวบรวมมูลควายทั้งหมู่บ้าน ตั้งเป็นกองกฐินขี้ควาย รวบรวมได้ 800 กก.ใช้เป็นปุ๋ยในนาข้าวช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูงกระสอบละเป็นพัน นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกมะนาว จากการเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมทำให้ชาวบ้านมีเงินไปซื้อควายได้สมทบกับเงินกองทุนในโครงการต้นกล้าสีขาว ภายใน 1 ปีทำให้เพิ่มจำนวนควายจาก 30 ตัวเป็น66 ตัว

      “ชาวบ้านปลอดหนี้สิน เปลี่ยนรูปแบบการทำนาจากเดิมที่นำเงินไปซื้อปุ๋ยยา แต่เมื่อมารวมตัวกันทำปุ๋ยหมักจากขี้ควาย ทำให้มีเงินมาซื้อควายไว้ทำนาได้ อีกทั้งปุ๋ยที่ทำได้ยังเหลือขาย ปลูกมะนาวมีตลาดรับซื้อเช่นเดียวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงชุมชน”
      เงินเริ่มต้น 40,000 บาทน้องๆทีมรักษ์ควายนำมาเป็นทุนในการบริหารจัดการชุมชนให้อยู่ดีกินดีขึ้น โดยเริ่มต้นเข้าไปหาปราชญ์ชุมชน บอกเล่าถึงความตั่งใจที่จะมาเปลี่ยนวิถีเกษตรของชุมชน ทำงานผ่านปราชญ์ชุมชนโดยมีตัวอย่างให้เห็น เช่นปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบลดต้นทุนนั้นสามารถทำได้โดยทำนา 4 ไร่ได้ผลผลิต 3 ตัน เช่นเดียวการปลูกมะนาวเน้นทำแบบอินทรีย์ และยังส่งเสริมให้ชาวบ้านพึ่งพาอาหารที่ผลิตขึ้นเอง เช่นเลี้ยงกบเลี้ยงปลา
 


      “เราเป็นแค่ นศ.การที่จะไปเปลี่ยนความคิดของผู้ใหญ่ที่ขามีวิถีแบบนี้มา 100 ปีเราไม่สามารถเปลี่ยนได้แต่เรามีวิธีการเข้าไปชี้ให้เห็นปัญหา พูดคุยกับชาวบ้านเราก็ต้องทำตัวเป็นลูกหลาน ที่จะมาช่วยลดปัญหาหนี้สิน โชคดีด้วยที่เราเจอปราชญ์ชาวบ้านชอบเกษตรมาก” พิม บอกถึงวิธีทำงาน
      สถานะของน้องๆ เป็นเพียงนักศึกษาแต่เข้าไปเปลี่ยนแปลงชุมชนที่เคยเป็นหนี้สินได้ หลังจากที่น้องๆ เรียนจบโครงการธนาคารควายยังอยู่ ซึ่งพิมบอกว่า อยากให้ชุมชนเมนใหญ่เป็นต้นแบบธนาคารควายที่เปิดให้ชุมชนอื่นมาศึกษาดูงาน และเลี้ยงควายในเชิงเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบันจากข้อมูลของกรมปศุสัตว์มีจำนวนควายทั้งประเทศอยู่เพียง 800,000 ตัว เช่นเดียวกับการหาตลาดข้าวไรซ์เบอร์รี่ขณะนี้กำลังผลักดันให้ข้าวที่นี่อยู่ในกลุ่ม เครือข่าย แก่น สาร สินธ์ คือ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และ จ.กาฬสินธ์ เพื่อตอกย้ำความเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งมากขึ้น
      วิธีนำโจทย์ปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นเป็นที่ตั้ง ทำให้น้องจากทีมคนรักษ์ควาย ม.มหาสารคามสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ โครงการประกวด “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 9 นับเป็นหนึ่งในโครงการที่เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี ทุกสาขา ทุกชั้นปี ทุกสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมมากที่สุด  โดยทีมคนรักษ์ควายได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 300,000 บาท และตั๋วศึกษาดูงานประเทศออสเตรเลีย

      นางศิริพร นพวัฒนพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร เปิดเผยว่า โครงการ “กรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” เป็นหนึ่งในโครงการตามแผนงานที่มุ่งเน้น ให้นิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจิตสำนึกด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เข้าใจแนวคิดการจัดการที่ยั่งยืน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำความรู้ประสบการณ์และทัศนคติที่ได้รับจากโครงการไปปรับใช้ในชีวิตจริงในการประกอบอาชีพ จึงเป็นเสมือนการปลูกต้นกล้าจริยธรรมให้เติบโตงอกงามอย่างยั่งยืนในสังคมไทยต่อไป
      “ผู้เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการบ่มเพาะความรู้ เกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการทำแผนงานโครงการ ตลอดจนจุดประกายความคิดสร้างสรรค์  กล้าคิด กล้าทำ ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจ ที่ทุกคนมีการพัฒนาอย่างมาก และถือว่าเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงที่พร้อมจะเติบโต โดยผู้รับการอบรมได้สร้างสรรค์และทำผลงานได้อย่างหลากหลาย และเยี่ยมยอด แต่ละทีมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ สามารถนำความรู้ มุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ และความเชี่ยวชาญในการใช้ไอที เข้าไปช่วย ต่อยอด เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ หรือโครงการของชุมชนได้เป็นอย่างดี” นางศิริพร กล่าวปิดท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก
eduzones.com

แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.


แสดงความคิดเห็น :

- กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพและไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้ผู้ใดโพดขายสินค้าเด็ดขาด
- ข้อความโพสโดยสาธารณชน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!
^