งานราชการล่าสุด

สัญญาณบอกเหตุ พนง.ไม่อยากอยู่แล้ว " คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่จากไปเพราะหัวหน้า " คำนี้มีจริงไหม?

02 ก.ย. 2558 เวลา 19:41 น. 144,792 ครั้ง

สัญญาณบอกเหตุ พนง.ไม่อยากอยู่แล้ว " คนเข้าทำงานเพราะองค์กร แต่จากไปเพราะหัวหน้า " คำนี้มีจริงไหม?



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม
บางครั้งผู้บริหารมุ่งไปที่ความสำเร็จของงานอย่างเดียว ลืมนึกไปว่าลูกน้องไม่มีใจในงานที่สั่งให้ทำแล้ว งานที่ทำอยู่ก็ไม่สำเร็จอยู่ดี ฉะนั้นหัวหน้างานและผู้บริหารจึงควรสังเกตว่าลูกน้องมีพฤติกรรมอย่างไรที่แสดงว่าไม่มีใจให้องค์กรแล้วหรือไม่

ผู้เขียนอยากจะขอแชร์ประสบการณ์จากที่เคยทำงานด้านแรงงานสัมพันธ์และฝึกอบรมในโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สระบุรี ซึ่งมักจะมีพนักงานมาหารือบ่อยๆ ถึงปัญหาในงานในแผนก และวิธีการทำงาน เวลาส่วนใหญ่ที่พนักงานเข้ามาหารือมักจะเป็นในช่วงเย็นหลังจากสังสรรค์ในหมู่เพื่อน ซึ่งนั่งตั้งวงสนทนาและมักจะมีสุราร่วมไปด้วย พอได้ที่แล้วก็เริ่มพูดถึงเจ้านาย

ผมสังเกตเห็นว่า มีพนักงานคนหนึ่งพูดค่อนข้างรุนแรงและมีทัศนคติไม่ดีต่อผู้บังคับบัญชาอย่างมาก พอเวลาผ่านไปประมาณ 3 ชั่วโมง เขาเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น เพราะพูดไปเริ่มไม่มีใครฟัง หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นร้องไห้ จนทำให้เพื่อนๆ หันมาให้ความสนใจพนักงานคนนั้นทันที และรับฟังความเห็นของเขามากขึ้น จึงได้ทราบว่า เขาถูกเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้งและถูกผู้บังคับบัญชาระดับต้นจัดเวรให้ไปอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานลำบาก ให้อยู่แต่เวรดึก ไม่ได้รับโอกาสเหมือนพนักงานคนอื่น เพราะสาเหตุที่ว่า พนักงานคนนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกขายตรงของบริษัทหนึ่งที่หัวหน้าหมวดเป็นแม่ข่ายอยู่ ส่วนเพื่อนๆ ในแผนกเป็นสมาชิกเกือบทุกคนแล้ว

ในวันรุ่งขึ้น ผมไปหารือกับผู้จัดการแผนกที่รับผิดชอบสายงานนี้ จนได้ข้อมูลความจริงอีกหนึ่งอย่างคือ พนักงานคนนี้จากที่ไม่เคยขาด ลา มาสายเลยในช่วง 3 เดือนที่มาทำงานในโรงงาน แต่ช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุดกลับเริ่มมาสายและลากลับก่อน จึงเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่า พนักงานเริ่มจะเดินออกจากองค์กรแล้ว

พฤติกรรมพนักงานโดยทั่วๆ ไป ที่ผู้บริหารสามารถสังเกตได้จากพนักงานมี 3 พฤติกรรม ได้แก่ พฤติกรรมที่สังเกตอันดับแรก คือ พนักงานเริ่มมาสาย ลากิจ และขาดงาน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า เริ่มไม่อยากทำงาน ไม่ใส่ใจในการทำงานแล้ว ซึ่งหัวหน้าใกล้ชิดมักสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ง่าย แต่ถ้ามีหัวหน้างานที่พฤติกรรมไม่ดี ก็จะถูกลืมไปเลย พนักงานที่เป็นแบบนี้ส่วนใหญ่จะเดินออกจากองค์กร โดยทิ้งความทรงจำไม่ดีไว้และยังไปบอกเล่าต่อถึงพฤติกรรมไม่ดีของบริษัทอีกด้วย

พฤติกรรมการแสดงออกที่สอง คือ การบ่นให้คนอื่นฟัง เมื่อพึ่งหัวหน้าไม่ได้ ก็จะพยายามบอกเล่าให้คนอื่นนอกแผนกให้รับทราบ เพื่อต้องการให้ผู้จัดการสายงานอีกระดับหนึ่งได้รับรู้และเข้าใจถึงตัวเขา ถ้าเรื่องนี้ได้รับการตอบรับก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะหยุดพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้

พฤติกรรมการแสดงออกที่สาม คือ การออกหางานบริษัทใหม่ เมื่อพนักงานแสดงออกทั้งสองอย่างแล้ว ยังไม่มีเสียงตอบรับจากผู้บริหาร พนักงานก็จะออกหางานใหม่

จากการวิจัยที่พบในองค์การใหญ่ๆ จะเห็นได้ว่า คนเลือกที่จะทำงาน เพราะองค์กรมีความมั่นคง มีระบบการบริหารที่ดี และเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านสินค้าและการบริการ ในทางกลับกัน คนมักจะเดินออกจากองค์กร เพราะการบริหารงานของหัวหน้าที่ไม่มีความยุติธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวก และไม่ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเรียกว่าเป็น แรงผลัก มักจะเกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งสามารถบริหารจัดการได้

แต่ถ้าเป็น แรงดึง ที่เกิดจากภายนอกองค์กร เราไม่สามารถควบคุมหรือบริหารจัดการได้ องค์กรส่วนใหญ่จึงต้องบริหารแรงผลักภายในองค์กรให้ดีเท่านั้น สำหรับพนักงานส่วนใหญ่ที่ปฏิบัติงานในองค์กร มักจะเกิดปัญหาด้านแรงผลักก่อนเสมอ และในช่วงดังกล่าวมีแรงดึงจากภายนอกเข้ามาพอดี จึงทำให้เกิดการตัดสินใจที่เร็วขึ้นได้

ฉะนั้น หากสังเกตเห็นพฤติกรรมข้างต้นของพนักงาน และถ้าผู้บริหารจะหยุดการลาออกของพนักงานให้ได้ผล จะต้องเข้าไปรับรู้และหาสาเหตุตั้งแต่ในพฤติกรรมที่ 1 และ 2 โดยพูดคุยกับพนักงานเพื่อรับทราบปัญหา และหาวิธีแก้ไข เพื่อให้พนักงานสบายใจว่า ผู้บริหารเหนืออีกระดับหนึ่งยังให้ความเป็นธรรมแก่เขา ก็จะทำให้หยุดการลาออกของพนักงานได้  แต่ถ้าให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ 3 แล้ว จะทำให้หยุดและดึงพนักงานกลับเข้าสู่องค์การได้ยากมาก

โดย…ดร.กฤติน กุลเพ็ง ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาศักยภาพองค์กร weerakp@gmail.com
ที่มา http://job.posttoday.com

แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.


แสดงความคิดเห็น :

- กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพและไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้ผู้ใดโพดขายสินค้าเด็ดขาด
- ข้อความโพสโดยสาธารณชน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!
^