งานราชการล่าสุด

​7 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการสอบท้องถิ่น

28 ส.ค. 2559 เวลา 14:47 น. 16,397 ครั้ง

​7 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการสอบท้องถิ่น



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม
สวัสดีครับ เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในช่วงเตรียมสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น
ผมเองได้พบเห็นข้อความจากสมาชิกชุมชนคนท้องถิ่นหลายท่าน ที่ยังเข้าใจและมีความเชื่อผิดๆอยู่
ในการที่จะไปโพสต์ตอบ 1 ครั้ง ก็คงจะไม่เป็นประโยชน์มากนัก ผมจึงขอรวบรวมประเด็นสำคัญๆ มาตั้งเป็นกระทู้สักเลย


ว่ากันด้วยเรื่อง "7 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการสอบท้องถิ่น" จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น
เชิญอ่านกันได้เลยครับlaugh



ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 1
สอบท้องถิ่น ต้องมีใบรับรองการสอบผ่านภาค ก !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว การสอบท้องถิ่น ไม่ต้องมีใบสอบผ่านภาค ก ทุกคนสามารถสมัครสอบได้หมด เนื่องจากการสอบแข่งขันเพื่อเข้ารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในครั้งนี้ และจากนี้ไป "ทุกคนจะต้องเข้าสอบในภาค ก ทุกคน (ทุกสนามสอบ)"


ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 2
หากใครสอบผ่านภาค ก  ก.พ. แล้ว จะได้รับสิทธิไม่ต้องเข้าสอบภาค ก ท้องถิ่น !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว ผู้สมัครสอบท้องถิ่นทุกคน ต้องเข้าสอบภาค ก เพื่อความเท่าเทียมกัน ไม่มีข้อยกเว้นใด


ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 3
หากสอบผ่านภาค ก ท้องถิ่น จะได้รับใบรับรองสอบผ่าน และจะถือไปสอบภาค ข ที่ไหนก็ได้ !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว ปัจจุบันนี้ระบบการออกใบรับรองการสอบผ่านภาค ก ของท้องถิ่น ไม่มีแล้ว ... ในการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันใดๆ ของท้องถิ่น ผู้สมัครทุกคนต้องเข้าสอบภาค ก และภาค ข


ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 4
สอบภาค ก ท้องถิ่น ง่ายๆ มีแค่เลขอนุกรมกับภาษาไทย อุปมาอุปไมย !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว การภาค ก. หรือมีชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า “ภาคความรู้ความสามารถทั่วไป” การสอบจะกำหนดคะแนนเต็มไว้ที่ 100 คะแนน
      โดยจะทดสอบด้วย “ข้อสอบปรนัย” (ข้อสอบแบบมีตัวเลือก) โดยหน่วยดำเนินการสอบจะคำนึงถึงระดับความรู้ความสามารถที่ต้องการตามระดับตำแหน่ง ซึ่งจะแบ่งเนื้อหาขอบเขตของข้อสอบ ภาค ก. ได้ดังนี้
      (1) วิชาสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล กำหนดคะแนนเต็ม 25 คะแนน
จะทดสอบความสามารถในการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเหตุผล โดยการให้สรุปความหรือจับประเด็นในข้อความหรือเรื่องราว หรือให้วิเคราะห์เหตุการณ์หรือสรุปเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม หรือให้หาแนวโน้มหรือความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นไปตามข้อมูลหรือสมมุติฐาน 
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ ข้อสอบเคยออกถึง “การหาค่าของเลขอนุกรม , การหาร้อยละ , โจทย์เงื่อนไขทางคณิตศาสตร์ , การอ่านค่าจากตาราง กราฟ แผนภูมิ” 
      (2) วิชาภาษาไทย กำหนดคะแนนเต็ม 25 คะแนน
จะทดสอบความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย โดยการให้สรุปความและหรือตีความจากข้อความสั้นๆ หรือบทความและให้พิจารณาเลือกใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆจากคำหรือกลุ่มคำประโยคหรือข้อความสั้นๆ
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านภาษาไทย ข้อสอบเคยออกถึง “อุปมา อุปไมย , เงื่อนไขทางภาษา , การเรียงประโยค , การเติมคำ , การตีความจากบทความยาว , คำราชาศัพท์ , สำนวน สุภาษิตไทย”
      (3) วิชาความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติราชการ กำหนดคะแนนเต็ม 50 คะแนน
จะทดสอบความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งและอำนาจหน้าที่ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล ระเบียบงานสารบรรณ และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
จากการสอบในอดีตที่ผ่านมา ในส่วนนี้จะต้องใช้ความรู้ทางด้านกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น “พระราชบัญญัติ อบจ./เทศบาล/อบต.” 

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสัดส่วนคะแนนของวิชาระเบียบกฏหมายท้องถิ่นสูงถึง 50 คะแนน เรียกว่าได้ครึ่งหนึ่งของคะแนนเต็มกันเลยทีเดียว



ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 5
แค่สอบให้ผ่าน ขึ้นบัญชีได้ ก็ถือว่าจะได้บรรจุเป็นข้าราชการแน่นอน !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว การสอบท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกรณีที่จัดสอบโดย กสถ. หรือจะเป็นกรณีที่ อปท. จัดสอบเองนั้น ในประกาศรับสมัครจะมีระบุชัดเจนว่า บรรจุในครั้งแรกจำนวนกี่อัตรา ดังนั้นแล้วการขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้ คือ การขึ้นบัญชีเรียงลำดับเพื่อรอการเรียกไปรายงานตัวเพื่อบรรจุต่อไป ซึ่งอาจจะเรียก หรือ ไม่เรียกก็ได้ ซึ่งบัญชีผู้สอบได้นี้จะมีอายุใช้งาน 2 ปี สรุปคือ การสอบขึ้นบัญชีไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้บรรจุเป็นข้าราชการแน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ สอบให้ได้ลำดับต้นๆ ตามจำนวนที่ประกาศรับสมัครต้องการในการบรรจุครั้งแรก
และหากสอบขึ้นไว้บัญชีรอไว้ จะไปโทษว่าทำไม อปท. ไม่เรียกใช้บัญชีก็ไม่ได้ เพราะต้องย้อนหลับมาทำความเข้าใจว่า อปท.มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การจะบรรจุเพิ่มหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของแต่ละอปท.พิจารณาตัดสิน เพราะต้องคำนึงถึงภารกิจหน้าที่และภาระค่าใช้จ่ายของตนเองด้วย ซึ่งแต่ละที่ไม่เหมือนกัน


ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 6
สอบท้องถิ่น ไม่มีเส้นสาย ไม่มีเงิน ไม่มีทางสอบได้หรอก !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว การสอบท้องถิ่นที่จัดโดย กสถ. นั้น มีกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการสอบที่เข้มงวดรัดกุม ป้องกันการทุจริตเต็มที่ จากการจัดสอบโดย กสถ. เมื่อปี 2557 นั้น มีผู้สอบผ่านเพียง 3 % เท่านั้น และคนที่สอบผ่าน และได้รับการบรรจุนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคนธรรมดาเช่นคุณ ไม่มีเส้น ไม่มีการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง แน่นอน สรุป ถ้าไม่ศรัทธาและไม่เชื่อมั่นความโปร่งใสในการสอบของ กสถ. ขอแนะนำให้อยู่เฉยๆ นอนอยู่บ้านสบายสุดครับ 


ความเชื่อผิดๆ เรื่องที่ 7
สอบท้องถิ่น เขามีตัวอยู่แล้ว จัดสอบพอเป็นพิธี !
เชื่อผิดๆ ... แท้จริงแล้ว การสอบท้องถิ่นที่จัดโดย กสถ. นั้น คือ เป็นการจัดสอบตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งความประสงค์ร้องขอให้ดำเนินการจัดสอบแข่งขันแทน บ่งบอก คือ ต้องการคนเข้ามาทำงานจริงๆ สรุป อย่าคิดแค่แคบๆ มองให้กว้างๆครับ 


- - - สรุป การสอบท้องถิ่น - - -
ขอส่งข้อความผ่านไปถึง คนเพิ่งจบใหม่ , พนักงานจ้าง , ลูกจ้าง , คนธรรมดา , คนตกงาน ฯลฯ
"หากใฝ่ฝันอยากจะเป็นข้าราชการ ทำงานพัฒนาท้องถิ่นบ้านเกิด"
โอกาสจะมาถึงแล้วครับ ... เลิกทุกอย่างให้หมด เลิกทำตัวแบบเดิมๆ เลิกคิดแบบเดิมๆ

การสอบท้องถิ่น โดย กสถ. ผมบอกเลย "โคตรโปร่งใส่สุดๆ" 
หากพลาดครั้งนี้แล้วนะ ไม่รู้จะมีโอกาสให้แก้มืออีกเมื่อไร

จะไปได้ยินอะไรผิดๆมา หรือยังมีความเชื่อผิดๆอยู่ จงเลิกนะครับ
หันมาตั้งสมาธิ ตั้งใจกับการสอบครั้งนี้ครับ

โปรดอย่าเพิ่งถามว่า "จะเปิดรับสมัครเมื่อไร"
แต่จงถามตัวคุณเองก่อนว่า "เปิดใจพร้อมที่จะเตรียมสู้ศึกครั้งนี้หรือยัง?"

ขอบคุณบทความดีดีจาก @ thailocalmeet.com
ด้วยความปรารถนาดีจาก
ส.เสือ

แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.


แสดงความคิดเห็น :

- กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพและไม่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย
- ห้ามมิให้ผู้ใดโพดขายสินค้าเด็ดขาด
- ข้อความโพสโดยสาธารณชน โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!
^