งานราชการล่าสุด

ครูน้อย " ผู้เสียสละแก่ผู้อื่น " จนตัวเองเจอมรสุมกว่า 35 ปี ตัวอย่างการ“ล้มละลาย”ของสถานสงเคราะห์ไทย

19 ก.ค. 2558 เวลา 15:38 น. 2,120 ครั้ง

ครูน้อย " ผู้เสียสละแก่ผู้อื่น " จนตัวเองเจอมรสุมกว่า 35 ปี ตัวอย่างการ“ล้มละลาย”ของสถานสงเคราะห์ไทย



นำเสนอข่าวโดย > ทีมงานจ๊อบไทยดีดี ดอทคอม
หลายคนคงคุ้นชื่อ “บ้านครูน้อย”  กันมาบ้าง จากตำนานการเริ่มต้นก่อตั้งสถานสงเคราะห์ด้วยเงิน20 บาท ดำเนินกิจการมายาวนานตั้งแต่ปี 2523 “นวลน้อย ทิมกุล”  หรือที่รู้จักกันในนาม “ครูน้อย” ผู้รับอุปการะช่วยเหลือเด็กยากไร้ในชุมชนราษฎร์บูรณะ26 มานับพันคน ด้วยเจตนารมณ์จะช่วยเหลือช่วยเด็กที่มีฐานะยากจน เด็กพิการซ้ำซ้อน เด็กที่ครอบครัวแตกแยกเด็กที่พ่อแม่ต้องโทษจำคุก เพื่อให้มีโอกาสได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมนำไปในประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวของเด็กๆในอนาคตได้

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านล่วงเลยมากว่า 35 ปี “บ้านครูน้อย” ผ่านมรสุมปัญหามานับครั้งไม่ถ้วน จากวิกฤตการเงินที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กในชุมชนและการที่ไม่ได้ทำบัญชีการเงินอย่างรัดกุมทำให้“ครูน้อย”ต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากเจ้าหนี้นอกระบบเป็นเงินหลายล้านบาท

เเละจากการทุ่มเทเวลาชีวิตของครูน้อยเพื่อดูแลเด็กๆที่อยู่ในอุปการะจนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพ ทำให้ครูน้อยต้องป่วยเรื้อรังเป็นโรคเบาหวาน เป็นแผลกดทับจนต้องตัดนิ้วเท้า ส่งผลให้ครูน้อยในวัย73ปี ไม่สามารถเดินเหินได้เหมือนกับคนปกติอีกแล้ว


“บ้านครูน้อย” กลายเป็นที่รู้จักในสังคมในวงกว้างเมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน ต้องออกประกาศปิดกิจการครั้งแรก เมื่อปี 2553 ซึ่งในขณะนั้นได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและประชาชนอย่างมาก และการยื่นมือมาช่วยเหลือของพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่ได้เปิดบัญชีระดมทุนจากประชาชนผู้ใจบุญมาช่วยเหลือสถานสงเคราะห์บ้านครูน้อยเป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท

โดยเข้ามาทำการเคลียร์หนี้สินนอกระบบให้บ้านครูน้อย จากเดิมเป็นหนี้สินรวมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินกว่า10ล้านบาท แต่จากการเจราจากับเจ้าหนี้กว่า 20 รายก็ประนีประนอมกันได้เหลือจำนวนหนี้ทั้งสิ้น ราว 3ล้านบาท จากนั้นได้มอบเงินและตั้งบัญชีกองทุนบ้านครูน้อยเพื่อสำรองไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไป



วิกฤตบ้านครูน้อยในปี 2553 กับการช่วยเหลือระดมทุนครั้งใหญ่ของประชาชนทำให้บ้านครูน้อยดำเนินกิจการต่อมาได้จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 5 ปี ทางสถานสงเคราะห์บ้านครูน้อยได้ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า จะปิดทำการสถานสงเคราะห์เป็นการถาวร ภายในสิ้นเดือนก.ค. 2558 นี้


เนื่องจาก ปัญหาหนี้สินที่สะสมมานานจากการกู้เงินนอกระบบและปัญหางบค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ อีกทั้ง ครูน้อยในวัย 73 ปีก็มีสุขภาพย่ำแย่ พร้อมประกาศขายบ้านเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้สินทั้งหมด  ทั้งนี้ เด็กในชุมชนที่อยู่ในอุปการะรุ่นปัจจุบันนี้มีอยู่ถึง 65 คนเป็นเด็กช่วงวัย 4-25 ปี จากชั้นประถมไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย




ทีมข่าว “ประชาชาติฯออนไลน์”  ได้ลงสำรวจพื้นที่ พบว่า เด็กที่อยู่ในอุปการะของครูน้อยทั้งหมดไม่ได้อาศัยหลับนอน ณ สถานสงเคราะห์บ้านครูน้อยแล้ว

ปกติแล้ว ทุกวัน เด็กๆจะมารับประทานอาหารเช้า ก่อนไปโรงเรียนและรับเงินค่าเดินทางไปยังสถานศึกษาในช่วงเช้าประมาณคนละ 20-100 บาท ตามระดับชั้นและความใกล้-ไกลของโรงเรียน โดยเหล่านักเรียนต้องมาทำการลงชื่อในบัญชีเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อรับเงินก่อนไปโรงเรียนทุกคน

จากนั้น เมื่อหลังเลิกเรียนเด็กๆก็จะมารวมตัวกันที่บ้านครูน้อยเพื่อทำการบ้านและทำกิจกรรมต่างๆโดยมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและรับประทานอาหารเย็น ซึ่งบางวันถ้ามีอาหารเหลือก็สามารถนำอาหารกลับไปให้ครอบครัวทานที่บ้านของตนได้



ดังนั้น ทุกๆวัน สถานสงเคราะห์บ้านครูน้อยจึง ต้องทำอาหารครั้งละ 2มื้อ เช้า-เย็น ประมาณ 2 หม้อใหญ่ๆ รายการอาหารส่วนมากจะเป็นแกงจืดต้มฟักบ้าง แกงเขียวหวานบ้างหรือไม่ก็เป็นอาหารจานผัด อย่างผัดกระเพราหมูและไข่เจียว เป็นต้น


โดยข้าวปลาอาหารทั้งหมด “ครูน้อย” จะทำหน้าที่เป็นแม่ครัวใหญ่ ทำอาหารให้เด็กๆทานเองซึ่งมีแม่บ้านอีก 2-3 คนคอยเป็นลูกมือ ซึ่งเด็กๆก็ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าฝีมือการทำอาหารของครูน้อยนั้น...อร่อยมาก

ประภาศิริ ดำสนิท หรือ บุ๊งกี๋ วัย21 ปี นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ ม.รามคำแหง ที่อยู่ในอุปการะกับครูน้อยมาตั้งแต่อายุ4 ขวบ เนื่องจากพ่อและแม่แยกทางกัน  เล่าว่า หากบ้านครูน้อยถูกปิดไปคงเสียใจ และสัญญาว่าหากเรียนจบจะหางานทำและหาเงินมาจุนเจือภาระของครูน้อย ซึ่งตอนนี้ตนก็ทำงานพิเศษส่งเสียตัวเองอยู่บ้าง พร้อมยอมรับว่าครูน้อยบริหารจัดการเงินไม่ดีจริง แต่ขอยืนยันว่าครูน้อยไม่เคยนำเงินไปซื้อของให้ตัวเองเลย แก้วแหวนเงินทองอะไรตนก็ไม่เคยเห็นครูน้อยสวมใส่


และ “แขก” สาวน้อยผู้กำลังเรียนอยู่ชั้น ม. 6 เล่าว่า เธอเป็นเด็กกำพร้าและอาศัยอยู่กับป้าพิการและปู่ที่เป็นโรคหัวใจการได้รับการดูแลจากครูน้อย เป็นการชุบชีวิตเธอมาตั้งแต่3ขวบ และการได้เรียนหนังสือก็เป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝัน เเต่เมื่อได้ทราบว่าบ้านครูน้อยจะปิดตัวลงเธอรู้สึกตกใจมากเพราะไม่รู้ว่าจากนี้จะเอาเงินที่ไหนมาเล่าเรียน


ด้านครูน้อย เปิดใจถึงภาระค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับว่า จากปัญหาการกู้หนี้ยืมสินที่มีดอกเบี้ยเพิ่มพูนมากมายและทางบ้านครูน้อยไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่มากถึงวันละ 6,500บาท


ซึ่งแบ่งเป็นเงินที่ให้เด็กๆไปโรงเรียนในแต่ละวันประมาณ3,500บาท และค่าจ้างแม่บ้าน 8 คน คนละ 250 ต่อวันเป็นเงินราว 2,000 บาท โดยจะทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน เหลือประมาณ 1,000 บาทนั้น จะเป็นค่าอาหารและค่าจิปาถะรายวันซึ่งรวมๆแล้วมีค่าใช้จ่ายถึงเดือนละประมาณ 2 แสนบาท และแม้จะได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อปี2553 แต่เนื่องจากต้องใช้จ่ายทุกวัน เเละมีปัญหาต่างๆเข้ามาทำให้เกิดหนี้สินพอกพูนขึ้นมาอีกครั้ง


จากสภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ ทำให้ยอดเงินที่ได้รับบริจาคจากผู้ใจบุญทั้งหลายเข้ามาน้อยกว่าเดิมมาก ซึ่งครูน้อยเล่าว่าบางวันต้องคอยเช็คเงินบริจาคที่เข้ามาซึ่งบางวันก็มีเข้ามาวันละ500-1,000บาท แต่บางวันก็ไม่มีเลย แล้วให้เจ้าหน้าที่ไปกดเงินนั้นมาจ่ายค่ากับข้าวรายวันไปตลาดเพื่อซื้อของมาไว้ทำอาหารในวันต่อๆไป

ทุกวันอังคารในเเต่ละสัปดาห์ “บ้านครูน้อย”และเด็กๆจะนำงานฝีมือของเด็กและสิ่งของบริจาคไปขายทอดตลาดบ้างในส่วนที่เหลือใช้กินไม่ทัน ใกล้หมดอายุ เช่น นมและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น


"ป้าหมวย" แม่บ้านที่ทำงานกับ “บ้านครูน้อย” มากว่า 17 ปี เล่าว่า เด็กและแม่บ้านที่ครูน้อยช่วยเหลือล้วนแต่เป็นคนที่มีปัญหาครอบครัวทั้งสิ้น ส่วนตนเองก็มีปัญหาครอบครัวแตกแยก พเนจรไปทำงานหลายที่และมีชีวิตที่ยากจน


เมื่อได้มาพบกับครูน้อยก็ได้รับความช่วยเหลือให้การให้งานทำด้วยค่าจ้างวันละ250บาท ทำให้ป้าหมวยและครอบครัวที่มาเช่าบ้านอยู่ละแวกนี้มีรายได้นำไปเลี้ยงครอบครัว
เมื่อสอบถามว่าจากกระแสสังคมว่า การที่เด็กในอุปการะจำนวน 65 คนล้วนแล้วแต่มีพ่อแม่และครอบครัว ไม่ได้เป็นเด็กที่ไร้ผู้ปกครอง แต่ครูน้อยต้องรับภาระค่าเลี้ยงดูและส่งเสียให้เล่าเรียนทั้งหมดนั้นจะเป็นการผลักภาระมาให้ “บ้านครูน้อย” มากเกินไปหรือไม่

ป้าหมวยตอบว่า มันเป็นเรื่องของความผูกพันที่เรามีให้กันในชุมชนนี้เราอยู่ เราเลี้ยงเด็กพวกนี้มาตั้งแต่เล็กแต่น้อย และครูน้อยเองก็ไม่เคยคิดว่าเป็นการผลักภาระมาเราให้เพราะการช่วยเหลือในการศึกษาแก่เด็กพวกนี้เป็นไปตามความตั้งใจของครูน้อย  ไม่ได้คิดว่าพ่อแม่พวกเขาผลักภาระมาให้ครูน้อยเขาอยากช่วยเหลือเองด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นเรื่องความผูกพันที่คนภายนอกที่ไม่ได้มาสัมผัสเราจริงๆอาจจะไม่รู้


“ส่วนเด็กที่ได้รับการอุปการะ จบไปแต่ละรุ่นก็มีทั้งได้ดีจบมามีงานทำและส่วนที่เรียนไม่จบเสียค่าเทอม และออกไปมีครอบครัวกันก็มี...พวกเขาก็ต่างมีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน  ถ้าอัตราเฉลี่ยเด็กออกไปบ้านครูน้อยประมาณ100คน กลับมาช่วยเหลือบ้านครูน้อยประมาณ5-6 คนก็ถือว่าดีมากแล้ว”

แม้ข่าวที่ออกไป ได้สร้างประแสต่อต้านในเชิงลบ ก่อเป็นกำแพงที่ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะหันหลังให้กับการบริจาคสิ่งของหรือมอบเงินให้กับบ้านครูน้อยต่อไป วันนั้นทีมข่าวพบวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ที่ตั้งใจเข้ามาสอบถามรายละเอียดในการบริจาคสิ่งของ ซึ่งดูเหมือนข่าวในเชิงลบ จะไม่ได้ทำให้ผู้คนหมดศรัทธาต่อบ้านครูน้อยซะทีเดียว แต่กลับจุดไฟให้กับคนที่ยังไม่เคยมาสัมผัสตรงนี้ให้เหลียวกลับมามองมากขึ้น โดย "นริ" หนึ่งในหมู่วัยรุ่น บอกกับทีมข่าวประชาชาติฯออนไลน์ว่า


"เราย้อนกับมาถามตัวเอง...ว่าเราสามารถช่วยอะไรได้บ้าง จากที่ได้อ่านข่าวทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่วนตัวบ้านอยู่แถวนี้ ด้วยความที่เห็นจนชินตาจนเราเพิกเฉยไปเอง ไม่เคยคิดที่จะเข้ามาดูหรือบริจาค จนมาเจอข่าวว่าบ้านที่เราเคยผ่านทุกวันกำลังจะปิดตัว เฮ้ย! สถานการณ์มันย่ำแย่ขนาดนี้เลยหรอ ก็เลยเข้ามาดูด้วยตัวเองว่าขาดเหลือตรงไหน เงิน สิ่งของ อาหาร เราจะได้ช่วยเค้าถูกจุด"


จากนั้นทีมข่าว "ประชาชาติฯออนไลน์" จึงได้ลงไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนที่พ่อแม่ของเด็กทั้ง65 คนที่อาศัยอยู่ พบว่า ส่วนใหญ่จะทำงานหาเช้ากินค่ำ โดยจะทำงานโรงงานและมีอาชีพรับจ้างรายวันครอบครัวไม่สามารถส่งเสียบุตรหลานในด้านการศึกษาได้เพราะแค่ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตก็อยู่กันอย่างลำบากอีกทั้งบ้านที่อยู่ก็ยังเป็นบ้านเช่าซึ่งจะอยู่ในบริเวณที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า“สวนบ้านคนงาน”


โดยชาวบ้านในชุมชนนั้นบางราย เห็นว่าการที่ “บ้านครูน้อย”เข้ามารับอุปการะเด็กในเรื่องการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ดีมากเป็นการพัฒนาชุมชนโดยแท้จริงและอยากให้ทำต่อไป


อีกมุมหนึ่ง ชาวบ้านบางรายที่อาศัยอยู่แถวนั้นก็เกิดข้อสงสัยว่า “บ้านครูน้อย” เป็นหนี้ถึงหลักหลายล้านขนาดนั้นได้อย่างไร...ในเมื่อเห็นคนมาบริจาคข้าวสารอาหารแห้งให้เกือบทุกวัน


สำหรับประเด็นความโปร่งใสในการบริหารการเงินที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมซึ่ง “พี่รอง” ผู้ช่วยครูน้อยชี้แจงว่า หลังจากที่ได้รับการปลดหนี้นอกระบบให้ในปี 2553 ทางบ้านครูน้อยก็เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายตั้งแต่นั้นมา ซึ่งตนขอยืนยันว่าบัญชีทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้

"พี่รอง" เล่าว่า เนื่องจากรายจ่ายที่มีมากกว่ารายรับทำให้ตลอด 5 ปี บัญชีจึงขาดดุลจากรายจ่ายค่าเดินทางไปเล่าเรียนของเด็กๆที่เป็นเงินกว่าวันละ3,500 บาท  รวมทั้งค่าเทอมที่ต้องจ่ายให้เด็กตั้งแต่ชั้นประถมไปยันมหาวิทยาลัยก็เป็นเงินจำนวนมาก


ค่าจ้างแม่บ้านอีก8คน ที่ต้องจ่ายเป็นรายวัน เพราะครูน้อยเห็นว่าพวกเขามีภาระที่ต้องกินต้องใช้ ส่วนพี่รองนั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการให้ได้รับเป็นเงินเดือน อีกทั้ง บ้านครูน้อยยังมีค่าอาหารที่เราต้องทำกับข้าวเลี้ยงเด็กทุกวันการบริจาคเข้ามาในช่วงหลังๆก็น้อยมาก

ครูน้อยเล่าว่า ช่วง2ปี ที่ผ่านมานี้ จากกระแสข่าวลือจากสังคมว่าครูน้อยได้นำเงินบริจาคไปใช้จ่ายส่วนตัวและแอบไปซื้อที่ดินหลายสิบไร่พร้อมนำไปซื้อรถป้ายแดงให้ลูกชายนั้นทำให้ยอดเงินจากการบริจาคหดหายไปมาก


"เพราะสื่อเป็นต้นเหตุ ไปประโคมข่าวว่าครูเอาเงินไปซื้อที่ดินเอาเงินไปซื้อรถป้ายเเดงให้ลูก ถ้าครูทำจริง ครูยอมให้เอาครูไปประจานที่เสาชิงช้าเลยก็ได้ชีวิตครูตั้งเเต่ทำงานมาไม่เคยซื้อสิ่งของมีค่ามาให้ตนเอง ไม่มีเเม้โทรศัพท์ที่พังก็ยังไม่มีปัญญาจะไปซื้อเลยส่วนข่าวลือเรื่องไปซื้อที่ดิน ขอยืนยันว่าสามารถไปตรวจสอบที่ดินได้เลยว่าไม่มีชื่อลูกชื่อสามีครูไปซื้อที่อย่างที่เป็นข่าว"

หลังจากที่”บ้านครูน้อย” ประกาศว่าจะปิดทำการอย่างถาวรในปลายเดือนก.ค. นี้ ก็มีสื่อและประชาชนให้ความสนใจแวะเวียนและโทรเข้ามาสอบถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนกระทั้งเมื่อวันที่ 14 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญได้เข้ามาเยี่ยมและสอบถามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่พล.ต.อ.พงศพัศได้เคยช่วยเหลือปลดหนี้นอกระบบให้แก่บ้านครูน้อย เมื่อครั้งเกิดวิกฤตเมื่อปี2553 ซึ่งเคยเปิดบัญชีระดมทุนปลดหนี้ให้กว่า3 ล้านบาท

ในครั้งนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ ตั้งใจจะเคลียร์หนี้สินให้ครูน้อยอีกครั้งแต่ทางครูน้อยต้องให้คำสัญญาว่า ครั้งนี้จะเป็นการกู้หนี้นอกระบบครั้งสุดท้าย ได้เงินเท่าไหร่ต้องจัดการใช้เงินทุกบาทอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ให้รายจ่ายสูงกว่ารายรับ


โดยการช่วยเหลือปลดหนี้ ทาง พล.ต.อ.พงศพัศ จะไม่เปิดบัญชีระดมทุนจากประชาชนเหมือนครั้งปี2553 แต่คาดว่าจะเรี่ยไรเงินจากฝั่งตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และผู้มีจิตศรัทธาที่จะช่วยเหลือบ้านครูน้อยโดยตรง เนื่องจากตัวเลขหนี้นอกระบบ ในครั้งนี้มีประมาณล้านกว่าบาท


ด้านครูน้อย เปิดเผยว่า หลังจากข่าวแพร่ออกไปได้มีหลายฝ่ายโทรเข้ามาสอบถามและบอกว่าจะให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งพล.ต.อ.พงศพัศ ก็ได้มาให้ความช่วยเหลือตนยอมรับว่าที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องจัดการเงินเกิดขึ้นจริง


โดยหลังจากนี้จะลดการให้เงินเด็กไปโรงเรียนจากเดิมเคยให้เด็ก 40 บาทต่อคนต่อวัน  จะต้องลดลงเหลือ20 บาทและพิจารณาว่าเด็กทั้ง 65 คนที่ครอบครัวไม่มีภาระหนักมากก็ให้พ่อแม่ไปดูแลและสัญญาว่าจะบริหารเงินเท่าที่มี  เพื่อให้บ้านไม่ต้องปิดตัวลงในสิ้นเดือนนี้และจากความช่วยเหลือดังกล่าว ตนคาดว่าจะเปิดทำการต่อไปอีกประมาณ 3 ปีตามแต่สุขภาพจะเอื้ออำนวย

เเม้ว่าจะมีการเเก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยการเข้ามาเคลียร์หนี้นอกระบบทั้งหมด ให้พร้อมคำสัญญาจากปากครูน้อยว่าจะบริหารจัดการเงินให้ดีและเปิดกิจการต่อไปทำให้เด็กที่น่าสงสารทั้ง 65คน ไม่ต้องไปอยู่ในสถานสงเคราะห์  อาจเป็นพล็อตเรื่องเดิมๆที่เราคงเคยได้ยินกันมาแล้วซ้ำไปซ้ำมา...


และในอีก 3 ปีข้างหน้าชะตากรรมของ“บ้านครูน้อย” จะเป็นอย่างไร จะก้าวผ่านพ้นวิกฤตและจะได้รับการปรับปรุงจริงหรือไม่ถือเป็นช่วงเวลาที่สังคมควรจะมาหารือกันเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยเหตุและผลว่า...


เราควรสงเคราะห์เด็กผู้ยากไร้อย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด  เพื่อป้องกันไม่ให้สถานสงเคราะห์ในประเทศไทยต้องอยู่ในสภาวะ“ล้มละลาย”ในรูปแบบเดียวกันที่ “บ้านครูน้อย”กำลังเผชิญอยู่

ที่มา http://www.prachachat.net

รวมแนวข้อสอบ สรุปแนวข้อสอบ ครบทุกวิชา ดูเพิ่มเติมที่นี่


แชร์ข่าวนี้ ให้เพื่อนคุณ และติดตามเราได้ที่ Fanpage.
ติดตามข่าวบน Facebook กด Like เพื่อไม่พลาดข่าว !!!
ศูนย์ข่าวสารงานราชการ ข่าวเปิดสอบราชการ ตำแหน่งงานว่างอัพเดทให้ทุกวัน ติดตามที่นี่ www.jobthaidd.com
ข่าวที่น่าสนใจตอนนี้ กรมสรรพสามิต เปิดรับสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการ 123 อัตรา


กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับสมัครสอบเป็นพนักงานราชการ 129 อัตรา


บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) รับสมัครบุคคลเข้าทำงานเพื่อปฏิบัติงาน 164 อัตรา


กรมเจ้าท่า เปิดรับสมัครสอบบรรจุเข้ารับราชการ 43 อัตรา


หนังสือติวสอบ ก.พ. พร้อมติวและเฉลยข้อสอบจริง ก.พ. (ภาค ก) 67


สำนักงาน ก.พ. เปิดรับสมัครสอบ ภาค ก (Paper & Pencil) ประจำปี 2567


หนังสือ สรุปครบตรงประเด็น เตรียมสอบ ก.พ.


กสถ.เตรียมเปิดรับสมัครสอบท้องถิ่น 2567 จำนวน 65 ตำแหน่ง 4,010 อัตรา แล้ว!!



ผู้สนับสนุน เว็บไซต์พันธมิตร

งานล่าสุด >>

^